รองเท้านินจา‘CS Shoes’ เท่สบายใส่ทน คู่เดียวจบ!ลุยสวน-ทำนา-ท้าธรรมชาติ

รองเท้านินจา‘CS Shoes’ เท่สบายใส่ทน คู่เดียวจบ!ลุยสวน-ทำนา-ท้าธรรมชาติ

เผยแพร่:    โดย: MGR Online


“รองเท้านินจา” แบรนด์ ‘CS Shoes’

“รองเท้านินจา” แบรนด์ ‘CS Shoes’

จากที่เห็นข้อจำกัดของ “รองเท้า” หรือ “บูทยาง” เพื่อใช้ทำงานภาคเกษตร ยังไม่สามารถตอบสนองการใช้งานของชาวไร่ชาวนาได้อย่างดีที่สุด ก่อให้เกิดแนวคิดพัฒนารองเท้ารูปโฉมใหม่ที่ทั้งใส่สบาย แข็งแรงทนทาน และสร้างความปลอดภัยแก่เท้า ภายใต้แบรนด์ ‘CS Shoes’ หรือฉายาที่เรียกอย่างเก๋ๆ ว่า “รองเท้านินจา”

ศิริณณภัส สวัสดิวรนันท์

 ศิริณณภัส สวัสดิวรนันท์

 

เจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว คือผู้ประกอบการจาก จ.ราชบุรี อย่าง “ศิริณณภัส สวัสดิวรนันท์” บริษัท ซี เอส ชู (2008) จำกัด โดยจุดเริ่มต้น เกิดจากสามี (ชัยวัฒน์ สวัสดิวรนันท์) อยากจะสร้างอาชีพและเสริมรายได้ให้แก่ญาติๆ โดยมองไปที่งานตัดเย็บ “รองเท้าที่ใช้สวมใส่ในการทำเกษตร” หรือที่เรียกกันว่า “รองเท้านินจา” ซึ่งเกษตรกรท้องถิ่นใน อ.ดำเนินสะดวก ต้องใส่รองเท้าชนิดนี้ เป็นประจำเวลาทำงานกันอยู่แล้ว

 

เปลี่ยนมาเป็น “พื้นยาง” ทดแทน ส่วนวัตถุดิบ “ผ้า”

 เปลี่ยนมาเป็น “พื้นยาง” ทดแทน ส่วนวัตถุดิบ “ผ้า”

 

จากแนวคิดดังกล่าว ถูกพัฒนาให้เกิดเป็นธุรกิจจริงจังด้วยการเข้าโครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ซึ่งได้มีการทำแผนธุรกิจ ทำให้เห็นโอกาสทางธุรกิจชัดเจนขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองเกษตร จำเป็นต้องซื้อหาสินค้าชนิดนี้อยู่เสมอ และใช้จำนวนมาก อีกทั้ง ลงทุนไม่สูง และที่สำคัญ มองเห็นช่องทางที่สามารถพัฒนาสินค้าให้ดีกว่าที่เคยเป็นมาได้

 

“ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ผลิตรองเท้านินจามาก่อนแล้ว โดยพื้นรองเท้าจะทำจากผ้าหนา เหมาะใส่เฉพาะเวลาอยู่ในพื้นโคลน แต่ไม่เหมาะจะใส่เดินบนพื้นแข็งๆ โดยอายุใช้งานอย่างมากแค่ 1 เดือน รองเท้าก็พังแล้ว และผู้ผลิตก็ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง เพราะคิดว่า ยิ่งรองเท้าพังเร็ว ก็ยิ่งขายสินค้าได้ดี ส่วนรองเท้าบูทยางก็มีปัญหา เวลาเดินในโคลนจะถูกดูด และน้ำมักเข้าขังในรองเท้า ทำให้เราได้ไอเดียจะพัฒนารองเท้านินจาที่ใช้งานได้ทนทานและได้ทุกโอกาส โดยเปลี่ยนมาเป็น “พื้นยาง” ทดแทน ส่วนวัตถุดิบ “ผ้า” เลือกชนิดที่แข็งแรงฉีกไม่ขาดแต่แห้งเร็ว” ศิริณณภัส เกริ่นนำ

 

 

ภายในโรงงานผลิต

 ภายในโรงงานผลิต

 

สำหรับการออกแบบนั้น เจ้าของธุรกิจ เผยว่า มุ่งตอบโจทย์การใช้งานจริงให้ได้ดีมากที่สุด เช่น มีเชือกรัดหน้าแข้งช่วยยึดบูทผ้าให้ไม่รูดหล่นลงมา ใส่ซิปให้การสวมและถอดง่ายขึ้น เป็นต้น โดยจะทำสินค้าต้นแบบทดสอบการใช้งานในสถานการณ์จริงเสียก่อน จากนั้น นำข้อเสียต่างๆ มาปรับแก้ จนได้แบบที่เชื่อว่า มีคุณสมบัติครบถ้วนตามต้องการ ทั้งแข็งแรง ใส่กระชับ น้ำหนักเบา และแห้งไวเมื่อเปียกน้ำ เป็นต้น โดยเบื้องต้นลงทุนประมาณ 1 แสนบาท ว่าจ้างกลุ่มแม่บ้านเย็บเสื้อโหล ตัดเย็บรองเท้าให้ตามแบบที่ต้องการ ประมาณ 2,000 คู่ ออกสู่ตลาดในปี พ.ศ.2551 เบื้องต้นใช้วิธีนำสินค้าไปเสนอวางขายตามร้านขายสินค้าเกษตรต่างๆ แม้ช่วงแรกอาจจะถูกตั้งข้อสงสัยจากคู่ค้า แต่หลังจากลูกค้าซื้อไปใช้ แล้วกลับมาซื้อซ้ำต่อเนื่อง ช่วยให้สินค้ารองเท้านินจาแจ้งเกิดและติดตลาดอย่างรวดเร็ว

จากรองเท้าใช้ในงานเกษตรกลายเป็นรองเท้าแฟชั่น

 จากรองเท้าใช้ในงานเกษตรกลายเป็นรองเท้าแฟชั่น

 

“ตอนแรกที่เอารองเท้าไปเสนอร้านค้า ก็จะถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะขายได้จริงหรือ เพราะรองเท้านินจาแบบเดิมๆ ขายราคาคู่ละแค่ 100 บาท ส่วนของเราเป็นเจ้าแรกที่ทำรองเท้านินจาพื้นยาง ขายคู่ละ 300 กว่าบาท ซึ่งดิฉันก็อธิบายต่อทางร้านว่า รองเท้าของเราแข็งแรงทนทานกว่ามาก ซื้อครั้งเดียวใช้ได้ตลอดฤดูกาลทำเกษตร เชื่อว่าจะถูกใจลูกค้า ซึ่งช่วงแรกๆ ทางร้านก็ทดลองสั่งแค่ไม่กี่คู่ แต่เมื่อลูกค้าซื้อไปใช้ แล้วกลับมาซื้อซ้ำ แถมไปบอกต่อ หลังจากนั้น แต่ละร้านก็สั่งออเดอร์เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน มีตัวแทนร้านค้าที่สั่งสินค้าจากเราไปขายกว่า 500 รายจากทั่วประเทศ” ศิริณณภัส กล่าว

 

 

ก่อนหน้านี้ เจ้าของธุรกิจสาวคนนี้ทำงานประจำในตำแหน่งเลขานุการ แต่หลังจากธุรกิจเริ่มมีคำสั่งซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจลาออกมาบริหารธุรกิจเต็มตัว เมื่อพ.ศ.2553 โดยสร้างแบรนด์ ‘CS Shoes’ นอกจากนั้น ยังพาสินค้าได้คัดสรรเป็นโอทอป 4 ดาว และเป็นสินค้าพรีเมียมของจังหวัดราชบุรี รวมถึง จดทะเบียนนิติบุคคล ในปี พ.ศ. 2556 อีกทั้ง จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วย

 

 

จากเบื้องต้นที่มุ่งทำรองเท้านินจาเพื่อตอบสนองการใช้งานด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้สนใจเรื่องของแฟชั่นใดๆเลย แต่ผลพลอยได้จากที่รองเท้ามีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร แถมมีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน ใส่แล้วปลอดภัยต่อเท้า เหมาะสมต่อการใช้เดินในพื้นที่ทุรกันดารต่างๆ ทำให้ลูกค้าซื้อรองเท้า ‘CS Shoes’ ไปประยุกต์ใช้งานในรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น ใส่เดินป่า ใส่ปั่นจักรยาน ใส่ออกกำลังกาย ใส่ทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน รวมถึง กลุ่มวัยรุ่นยังซื้อหาไปใส่เที่ยวเล่นในชีวิตประจำวัน ทำให้ปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าขยายอย่างกว้างขวาง มาพร้อมกับคำสั่งซื้อจำนวนมาก รอเข้าคิวแน่นยาวจนผลิตไม่ทัน

 

ด้วยความต้องการของตลาดที่สูงยิ่งดังกล่าว บริษัท ซี เอส ชู (2008) จำกัด จำเป็นต้องซื้อวัตถุดิบต่างๆ โดยเฉพาะผ้า เก็บเป็นสต็อกไว้ปริมาณมากๆ เพื่อขยายกำลังผลิตให้ทันต่อออเดอร์ รวมถึง ปรับปรุงโรงงานให้เหมาะสมต่อการทำงานมากยิ่งขึ้น จึงได้ใช้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตามนโยบายของรัฐบาล ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน ช่วยให้ได้รับเงินทุนเพื่อมาดำเนินธุรกิจตามที่ตั้งใจไว้

สำหรับรองเท้า ‘CS Shoes’ มีด้วยกันประมาณ 10 แบบ แต่ละแบบมีขนาดตั้งแต่เบอร์ 38-45 ราคาขายปลีกคู่ละ 345 บาท กำลังผลิตเฉลี่ยประมาณ 10,000 คู่ต่อเดือน โดยมีพนักงานประจำโรงงานประมาณ 20 กว่าคน และกระจายงานให้แก่กลุ่มแม่บ้านในท้องถิ่นอีก 13 ครัวเรือน ซึ่งเดิมคนกลุ่มนี้จะรับจ้างทำรองเท้าเป็นรายได้เสริม แต่ปัจจุบันได้ยึดเป็นอาชีพหลักไปแล้ว

“การทำรองเท้าแต่ละแบบ แต่ละคู่ ดิฉันจะพยายามคิดแทนลูกค้าว่าต้องการสินค้าดีอย่างไร  เพื่อจะทำสินค้าให้ดีเกินกว่าลูกค้าคาดหวังเสียอีก เจ้าของธุรกิจ กล่าว

 “การทำรองเท้าแต่ละแบบ แต่ละคู่ ดิฉันจะพยายามคิดแทนลูกค้าว่าต้องการสินค้าดีอย่างไร เพื่อจะทำสินค้าให้ดีเกินกว่าลูกค้าคาดหวังเสียอีก" เจ้าของธุรกิจ กล่าว
 

หลังจากเป็นผู้บุกเบิกสินค้าประเภทนี้ ศิริณณภัส ยอมรับว่า ปัจจุบัน เริ่มมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทำสินค้ารูปแบบใกล้เคียงกันออกมาสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้ว กลับไม่คิดว่าผู้ผลิตรายอื่นเป็นคู่แข่ง เพราะตลอดเวลากว่า 9 ปีที่ทำธุรกิจนี้มา ยึดหลักสำคัญที่จะแข่งขันกับ “ตัวเอง” เท่านั้น ด้วยการพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นกว่าวันวาน เพื่อจะมอบรองเท้าที่ลูกค้าซื้อไปแล้วประทับใจและกลับมาซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง

“การทำรองเท้าแต่ละแบบ แต่ละคู่ ดิฉันจะพยายามคิดแทนลูกค้าว่าต้องการสินค้าดีอย่างไร เพื่อจะทำสินค้าให้ดีเกินกว่าลูกค้าคาดหวังเสียอีก ซึ่งตลอดเส้นทางธุรกิจที่ผ่านมา ดิฉันจะไม่มองคนอื่นๆ ว่าเป็นคู่แข่งเลย เพราะเชื่อว่า ถ้าเราทำสินค้าของตัวเองให้ดีแล้ว ผลตอบรับจากลูกค้าจะกลับมาดีเอง” เธอระบุ

 

 

สำหรับแผนธุรกิจต่อจากนี้ เตรียมจะขยายช่องทางตลาดให้ลูกค้าทั่วไปหาซื้อรองเท้านินจาได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึง จะพาแบรนด์ ‘CS Shoes’ จากอดีตใช้เพื่อทำงานการเกษตรเป็นหลัก ก้าวสู่รองเท้าเอนกประสงค์สามารถใช้ได้ในทุกกิจกรรมที่ต้องการรองเท้าแข็งแรงทนทาน และสร้างความปลอดภัยแก่เท้าผู้สวมใส่ ภายใต้คำขวัญให้เป็น “รองเท้าสามัญประจำบ้าน” ที่ทุกครัวเรือนควรมีไว้ใช้ยามจำเป็น

 

จากรองเท้าใช้ในงานเกษตรกลายเป็นรองเท้าแฟชั่น

 จากรองเท้าใช้ในงานเกษตรกลายเป็นรองเท้าแฟชั่น

 

“หลังจากที่ลูกค้าของเรานำรองเท้าไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทำให้เห็นว่า รองเท้าเรามีศักยภาพต่อยอดใช้งานได้หลากหลาย แผนธุรกิจจากนี้ เราจะนำเสนอว่า ถ้าต้องการรองเท้าที่แข็งแรงใส่สบาย ลุยได้ในพื้นที่ทุรกันดาร สามารถปกป้องเท้าได้ด้วย ขอให้คิดถึงรองเท้าของเราเป็นอันดับแรก ทั้งใส่ทำเกษตร เดินป่า หรือใส่เที่ยว ฯลฯ ทั้งหมดจบใน  คู่เดียว” ศิริณณภัส ตบท้าย

ใส่ทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน

 ใส่ทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน

 

 

ไอเดียนำจุดอ่อนของสินค้าที่ผ่านมา และพัฒนาให้ดีกว่าเดิม นับเป็นกุญแจไขสู่ความสำเร็จของรองเท้านินจา‘CS Shoes’ โดยมีหน่วยงานภาครัฐอย่าง บสย. เป็นผู้ช่วยต่อ ยอดให้ธุรกิจเติบโต พร้อมที่ก้าวสู่รองเท้าเอนกประสงค์ที่คู่ควรจะมีไว้ในทุกครัวเรือน

 

 

ติดต่อโทร.080-427-8513 หรือ www.thaininja.com , FB:csshoespage

 

บทความโดย : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

 

Visitors: 54,823